ภาพประกอบ

สทน.- กฟผ. ลงนามร่วมพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน คาดอีก 5 ปี เดินเครื่อง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไทย

26-04-2019 Views 10,544


       วันพุธที่ 24 เมษายน 2562 ณ ห้องประชุม 201 อาคารสำนักผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิจแห่งประเทศไทย ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน ระหว่าง นายพรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. และนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.)
 
       ดร.พรเทพ  นิศามณีพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน . กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันฟิวชันในครั้งนี้จึงเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญต่อการวิจัยด้านพลาสมาและพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันในประเทศไทย เพื่อเกิดการบูรณาการการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์งานวิจัยด้านนี้อย่างจริงจัง รวมทั้ง เพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านนี้ให้มีการทำงานร่วมกันอย่างมีทิศทางและสามารถตอบสนองความต้องการของภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งเกิดนวตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การผลิตวัสดุทนความร้อนสูงเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม การใช้เครื่องพลาสมาทางการแพทย์ และการเกษตร โดยมีกรอบความร่วมมือระยะเวลา 5 ปี  หลังจากร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กฟผ. จะสนับสนุนเงินงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อใช้สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชัน และจะส่งวิศวกรเข้าร่วมศึกษาและพัฒนาการออกแบบเครื่องโทคาแมค (TOKAMAK)  ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการกักเก็บพลาสมาด้วยสนามแม่เหล็ก และเป็นอุปกรณ์สำคัญในการศึกษาวิจัยเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่น  ซึ่งประเทศจีนมอบให้ประเทศไทย โดยผ่าน สทน. โดยจะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน และจะเรื่มออกแบบและประกอบเครื่องโทคาแมคที่ประเทศจีน  คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี จึงเสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้น จะขนย้ายเครื่องกลับมาติดตั้งที่ สทน. และติดตั้งระบบเสริมต่างๆ ที่เมืองไทย คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี เครื่องโทคาแมคในประเทศไทยจะเริ่มพัฒนาและใช้งานได้
 
       นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า เทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันถือเป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจอย่างสูงในหลายประเทศ เพราะเป็นแหล่งพลังงานในอนาคตที่มีความสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กฟผ. ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในด้านเทคโนโลยีฟิวชัน แลเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อสถานการณ์พลังงานที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน  ความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และ สทน. จะนำไปสู่การร่วมกันศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชัน  นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม และยกระดับขีดความ สามารถของบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและประยุกต์การใช้เทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน
 
ข้อมูลข่าวโดย : สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)