เกี่ยวกับหน่วยงาน

ประวัติศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)
          นับจากนาทีที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จโครงการถอดลำดับข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ (Human Genome Project) ในวันที่ 26 มิถุนายน 2543 นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกทั้งในสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน ทั้งในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ของบริษัทยา ต่างรีบเร่งนำความรู้จากโครงการดังกล่าวมาค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อนำสู่ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อมนุษยชาติ ด้วยความหวังที่จะประสบความสำเร็จในการแสวงหาวิธีการรักษาโรคต่างๆ ที่ยังไม่สามารถรักษาได้ในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านความรู้ทางหน่วยพันธุกรรมของมนุษย์ เมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถระบุหาตำแหน่งและหน้าที่ของยีนได้ จะสามารถนำไปสู่ความเข้าใจในสาเหตุของโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม การบำบัดรักษาโรคด้วยยีน รวมทั้งแนวโน้มที่โลกจะสามารถผลิตยาและวัคซีนใหม่ๆ เพื่อรักษาโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง ซึ่งคร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางระบบประสาท โรคชรา เป็นต้น
          ไม่เพียงแต่ประเทศพัฒนาแล้วทางซีกโลกตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจแขนงใหม่นี้ แต่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเซีย เช่น จีน อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ต่างก็เร่งทุ่มเทงบประมาณการลงทุนในด้านชีววิทยาศาสตร์ ด้วยเล็งเห็นว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ในปี 2546 ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Economic Cooperation – APEC) ได้ประกาศจัดตั้ง APEC Life Science Innovation Forum ขึ้นมา เพื่อสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อเร่งพัฒนาธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ ซึ่งถึงวันนี้แนวโน้มที่ของธุรกิจชีววิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นแนวโน้มทางธุรกิจที่มีความสดใสจริง โดยในปี 2549 Ernst & Young ได้สำรวจพบว่าทั่วโลกสามารถทำรายได้จากธุรกิจนี้มากถึง 73,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นปีที่ธุรกิจเทคโนโลยีชีววิทยาศาสตร์ของโลกมีการลงทุนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42
          สำหรับประเทศไทย วันที่ 18 มิถุนายน 2547 รัฐบาลในขณะนั้นได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานอิสระภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ 7 หน่วยงาน หนึ่งในนั้นคือศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คัดเลือกและพัฒนาเทคโนโลยีชีววิทยาศาสตร์ บริหารจัดการความรู้และกระตุ้นให้เกิดธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ซึ่งได้มีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์ความเป็นเลิศฯ และปฏิบัติงานจริงในวันที่ 29 ธันวาคม 2547
          ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการก่อกำเนิดของศูนย์ความเป็นเลิศฯ ได้กล่าวถึงการก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศฯ ในครั้งนั้นว่าจะเป็นความหวังของประเทศไทยในการก้าวทันกระแสธุรกิจชีววิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วในระดับโลก

 


แผนที่
loading