เกี่ยวกับหน่วยงาน

ประวัติสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ
เริ่มดำเนินงาน

   วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นปัจจัยสําคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจ  และสังคมฐานความรู้ ซึ่งจะทำให้ประเทศมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ (การเคลื่อนย้ายข้ามประเทศอย่างเสรีของปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ทุน บุคลากร สินค้าและบริการ และข้อมูลความรู้และข่าวสาร) และรับมือกับประเด็นอุบัติใหม่ที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อประเทศ อาทิ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ การเผชิญกับวิกฤติพลังงาน การจัดการด้านการกีดกันทางการค้า การพัฒนาระบบสาธารณสุขแนวใหม่ และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจนักเมื่อเทียบกับประเทศที่มีความก้าวหน้าในภูมิภาคใกล้เคียง อาทิ เกาหลีใต้ ใต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่จะต้องมีมาตรการในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างความสามารถของประเทศบนฐานความรู้ที่แน่นพอที่จะมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สังคมเข้มแข็ง และการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ อันจะนําไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
       จากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าวข้างต้นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้ริเริ่มให้มีการตรา พระราชบัญญัติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2551 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 125 ตอนที่ 33 ก เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551) ขึ้นเป็นกฎหมายพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นฐานสำหรับการกำหนดนโยบายและจัดทำแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับชาติ ให้มีความต่อเนื่อง และกำหนดกรอบการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันทั้งในด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในระดับสากลได้มากขึ้น
       ภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าว ได้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (กวทน.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นกรรมการ และมีปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเลขานุการเพื่อเป็นกลไกสำคัญที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศให้ชัดเจน ให้มีการจัดสรรและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ส่งเสริมสนับสนุน ผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายและแผน และติดตามประเมินผลการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อันจะส่งผลให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 


แผนที่
loading