เกี่ยวกับหน่วยงาน

ประวัติสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
เริ่มดำเนินงาน

แนวความคิดในการก่อสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนในประเทศไทย เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539  โดยสภาวิจัยแห่งชาติในขณะ นั้นได้อนุมัติให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ จากนั้นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการชั้นนำของประเทศไทยจากสถาบันต่างๆ 5 ท่าน   ได้เดินทางไป ยังประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน และงานวิจัยด้านแสงซินโครตรอน  และ ได้รายงานสรุปผลการศึกษา จากนั้นได้มีการจัดตั้งกลุ่มทำงาน ประกอบด้วยนักฟิสิกส์ 15 ท่าน    เพื่อเพื่อร่างโครงการเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ของประเทศไทย และในปี พ.ศ.2537 กลุ่มทำงานได้ตัดสินใจออกแบบเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน   ซึ่งมีวงกักเก็บอิเล็กตรอนระดับพลังงาน 1 ถึง 1.3 GeV และทำการศึกษาพิจารณาสถานที่ก่อสร้างที่เหมาะสม
          ในปี พ.ศ.2538    ได้มีการจัดสัมมนาในกรุงเทพมหานคร     โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนจากสหรัฐ อเมริกา มาเพื่อแนะนำและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกแบบเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน  จากนั้นได้มีการจัด Regional Workshop on Applications of Synchrotron Radiation ในกรุงเทพมหานครขึ้นในเดือนมกราคม ปี 2539   โดยมีนักวิทยาศาสตร์จากประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มประเซียนเข้าร่วมรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยทางด้านแสงซินโครตรอนโดยนักฟิสิกส์ชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา สวีเดน เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน   และ ออสเตรเลีย และในงานนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนในประเทศไทยอีกครั้ง
          ในปลายปี     2538      ประเทศไทยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน   1 GeV     ของกลุ่มบริษัท SORTEC Corperation ใน Tsukuba ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดโครงการวิจัยระยะสิบปีในเดือนมีนาคม 2539 และมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มบริษัท SORTEC Corperation จะทำการบริจาคเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนดังกล่าว จึงได้มีการพิจารณาความเป็นไปได้นี้ในงานสัมมนา ที่กรุงเทพมหานครในเดือนมกราคม 2539 ด้วย  
          ในปลายเดือนมกราคม   2539   หลังจากการสัมมนา      กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการจากประเทศไทยได้เดินทางไปยังเมือง Tsukuba ประเทศญี่ปุ่น เพื่อตรวจสอบเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนของกลุ่มบริษัท   SORTEC Corperation   และพบว่ายังอยู่ในสภาพที่ดี ดังนั้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2539 สภาวิจัยแห่งชาติในขณะนั้นได้ตัดสินใจเสนอโครงการแสงสยาม (Siam Photon Project) เข้าไปยังรัฐบาลไทย และในวันที่ 5 มีนาคม 2539 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการแสงสยาม และการก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติขึ้น
          เครื่องกำเนิดแสงสยาม ( Siam Photon Source )  เป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ประกอบด้วยระบบเครื่องเร่งอนุภาคและวงกักเก็บอิเล็กตรอนระดับพลังงาน 1 GeV ซึ่งดัดแปลงจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ได้รับบริจาคจากกลุ่มบริษัท     SORTEC Corperation  ประเทศญี่ปุ่นให้เป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่สามารถให้บริการแสงซินโครตรอนความจ้าสูง   ( high  brilliant  light source )    สำหรับงานวิจัยด้านต่างๆ ทั้งทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์ประยุกต์
          เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเดิมที่ได้รับบริจาคมานั้น     เป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นเก่า      ซึ่งถูกออกแบบมาเป็นเฉพาะสำหรับการประยุกต์ใช้ทางด้าน Lithography    โดยให้แสงซินโครตรอนที่มีความจ้าต่ำและมีช่วงพลังงานแสงจำกัดเพียงระดับ soft x-rays ทำให้มีขีดจำกัดในการประยุกต์ใช้สำหรับงานวิจัยด้านอื่นๆ ดังนั้นในการก่อสร้างเครื่องกำเนิดแสงสยาม จึงทำการดัดแปลง และออกแบบส่วนของวงกักเเก็บอิเล็กตรอนและส่วนประกอบบางส่วนใหม่ ดังนี้
         • ขยายขนาดของวงกักเก็บอิเล็กตรอน เพื่อเพิ่มส่วนทางตรง ( straight sections ) สำหรับติดตั้งอุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่า insertion devices ทั้งประเภท undulator สำหรับเพิ่มความจ้าของแสงซินโครตรอน และประเภท wiggler สำหรับขยายช่วงพลังงานแสงซินโครตรอนขึ้นไปถึงระดับ hard x-rays โดยวงกักเก็บอิเล็กตรอนของเครื่องกำเนิดแสงสยาม จะมีช่วงทางตรง 4 ช่วง สำหรับติดตั้ง insertion device ได้ 4 ชิ้น
        •  เปลี่ยนโครงสร้าง หรือ lattice ของวงกักเก็บอิเล็กตรอนมาเป็นแบบที่เรียกว่า double bend acromat ( DBA ) เพื่อลดขนาด emittance สำหรับการผลิตแสงซินโครตรอนความจ้าสูง
        •  สร้างท่อสุญญากาศ (vacuum chamber) ของวงกักเก็บอิเล็กตรอนใหม่
        •  สร้างระบบลำเลียงอนุภาคพลังงานสูง (High Energy Beam Transport Line) สำหรับลำเลียงอิเล็กตรอนจากเครื่องเร่งอนุภาคเข้าสู่วงกักเก็บอิเล็กตรอนใหม่
        •  ออกแบบ และจัดสร้าง insertion device เพื่อผลิตแสงซินโครตรอนสำหรับงานวิจัยด้านต่างๆ  
        •  เปลี่ยนระบบควบคุมเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ให้เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย