ภาพประกอบ

จรวดโซยูส MS-11 พามนุษย์ 3 คนกลับสู่สถานีอวกาศนานาชาติอีกครั้ง

11-12-2018 Views 14,379

เย็นของวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 2018 จรวดโซยูส MS-11 ได้พา Oleg Kononenko ผู้บัญชาการภารกิจชาวรัสเซีย Anne McClain นักบินอวกาศชาวสหรัฐ และ David Saint-Jacques นักบินอวกาศชาวแคนาดา สามลูกเรือในภารกิจ Expedition 58 เดินทางขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ และพวกเขาใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง เพื่อเดินทางไปเชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติหรือ ISS

ภาพการปล่อยจรวดโซยูส จากฐานปล่อยในคาซัคสถาน

การปล่อยจรวดในครั้งนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากจรวดโซยูสของรัสเซียได้เกิดปัญหาขึ้นในสองภารกิจก่อนหน้า โดยจรวดโซยูส MS-09 นั้นมีรูรั่วในส่วน Orbital Module  และจรวดโซยูส MS-10 นั้นเกิดปัญหาขึ้นกับบูสเตอร์ที่ติดอยู่กับจรวด ทำให้ภารกิจต้องถูกยกเลิกก่อนที่ลูกเรือจะเดินทางไปสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

        ในตอนแรกสถานีอวกาศนานาชาติเกือบถูกปล่อยทิ้งร้าง เมื่อลูกเรือสามคนสุดท้ายในสถานีอวกาศต้องกลับโลกในกลางเดือนธันวาคมนี้ แต่ทางหน่วยงานอวกาศของรัสเซียหรือ ROSCOSMOS ก็ได้ตรวจพบปัญหา และแก้ไขด้วยความรวดเร็ว ทำให้การปล่อยในครั้งนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งช่วยรักษาสถิติการมีมนุษย์อยู่ในอวกาศต่อเนื่องยาวนานกว่า 18 ปีให้คงอยู่ต่อไป

        ทว่าปัญหาในภารกิจนี้คือจำนวนลูกเรือที่น้อยกว่าเดิม เนื่องจากปัญหากับภารกิจโซยูส MS-10 ที่ทำให้ลูกเรืออีกสองคนไม่สามารถเดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติก่อนหน้านี้ได้ ทำให้การทดลองด้านวิทยาศาสตร์ลดน้อยลงกว่าเดิม อีกทั้งการออกไปปฏิบัติงานนอกสถานีหรือ Spacewalk ก็อาจไม่เกิดขึ้น เว้นแต่ว่ามีเหตุจำเป็นเท่านั้น

        ที่น่าสนใจคือ ภารกิจ Expedition 58 นี้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่มีนักบินอวกาศชาวแคนาดาเดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ หลังจากที่ Chris Hadfield ได้เดินทางขึ้นไปครั้งล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2013 ซึ่งในครั้งนั้นเขาได้เล่นกีตาร์ และบันทึกบทเพลงจากบนสถานีอวกาศนานาชาติซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากด้วย

        สถานีอวกาศนานาชาตินั้นโคจรอยู่ที่ความสูงราว 400 กิโลเมตรจากพื้นโลก  ประกอบไปด้วยโมดูลต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นห้องนอน ห้องน้ำ ห้องทดลอง ห้องออกกำลังกาย ห้องอาหาร และยังมีโมดูลที่เป็นกระจกขนาดใหญ่ ซึ่งนักบินอวกาศสามารถมานั่งมองโลกได้ โดย ปี ค.ศ. 2018 นี้เป็นปีที่ 20 ที่สถานีอวกาศนานาชาติถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบโลก

 

แหล่งที่มา : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)