ภาพประกอบ

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ปลดล็อคข้อจำกัดพัฒนาสตาร์ทอัพ เปิดตลาด 1 พันล้าน หวังให้ประชาชนเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างสะดวกสบาย

04-10-2018 Views 11,054

เมื่อเวลา 09.30 น. (28 กันยายน 2561) ณ ฮอลล์ 5 – 6 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี / ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยื เป็นประธานเปิดงานสตาร์ทอัพแฟร์ “Government Procurement Transformation” ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สนช. หน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้รับนโยบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเบิกทางให้แก่เหล่าสตาร์ทอัพสู่เส้นทางจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กับแนวคิด “ปลดล็อคข้อจำกัด พัฒนาสตาร์ทอัพ สู่ตลาดภาครัฐ” สร้างมิติใหม่ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพทางนวัตกรรมของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีภาครัฐ (Government Technology) ช่วยให้ภาครัฐบริการสาธารณะได้ดีขึ้น ทําให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐได้สะดวก โดยจัดแสดงนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจและพร้อมให้บริการแก่ภาครัฐและเอกชน กว่า 80 ราย ใน 7 โซลูชั่น ตั้งเป้าให้เกิดการซื้อขายระหว่างภาครัฐกับสตาร์ทอัพภายในงาน 1,000 ล้านบาท ซึ่งงานนี้ฯจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 - 29 กันยายน ที่ฮอลล์ 5-6 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ในการนี้ ดร. สุวิทย์ฯ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การพัฒนาตลาดภาครัฐและวิสาหกิจเริ่มต้น” ว่า สิ่งที่วันนี้รัฐบาลให้ความสำคัญคือ การสร้างความพร้อมให้ทุกภาคส่วน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและเอื้อต่อภาคธุรกิจในยุคดิจิทัล การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย และการขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ เพื่อการก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีเป้าหมายในการสร้างเศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด และที่สำคัญยกระดับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย INNOVATION NATION  โดย “นวัตกรรม” เป็นตัวแปรที่ช่วยขยายขีดความสามารถและความคิดสร้างสรรค์จนเกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทเล็กๆ ทั่วโลกได้แซงขึ้นมาอยู่แถวหน้าของวงการธุรกิจในเวลาสั้นๆ บริษัทเล็กๆ เหล่านี้พัฒนาธุรกิจอย่างก้าวกระโดด ธุรกิจเหล่านี้ ก็คือ “สตาร์ทอัพ”

 ตลอดระยะเวลา 3-4 ปี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พัฒนาและส่งเสริมสตาร์ทอัพ เพื่อเป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ และเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีภาครัฐ (หรือ GovTech) ที่เริ่มมีการตื่นตัวมากขึ้น  เพื่อช่วยให้ภาครัฐบริการสาธารณะได้ดีขึ้น ทําให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐได้สะดวก  งาน Government Procurement Transformation “ปลดล็อคข้อจำกัด พัฒนาสตาร์ทอัพ สู่ตลาดภาครัฐ” จึงเป็นก้าวเริ่มต้นแรกที่สำคัญของการนำนวัตกรรมของสตาร์ทอัพมาให้ภาครัฐ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาข่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานและพัฒนาการให้บริการแก่ประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มการลงทุนให้กับระบบนิเวศของสตาร์ทอัพโดยภาครัฐจะเป็นตัวเร่งการตลาด โดยตั้งเป้าให้เกิดการซื้อขายระหว่างภาครัฐกับสตาร์ทอัพเป็นครั้งแรกภายในงานนี้ ไน้อยกว่า  1,000 ล้านบาท  พร้อมเผยเป้าหมายตลาดภาครัฐสำหรับสตาร์ทอัพทางด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีภาครัฐ หรือ GovTech สามารถเติบโตได้ถึง 30,000 ล้านบาท หรือ 1% ของงบประมาณภาครัฐ) 

 

รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยถึงที่มาของการจัดงานว่า ได้ประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และหารือแนวทางการจัดงานร่วมกับเลขาธิการ ก.พ.ร. และปลัดกระทรวงต่างๆ ร่วมมือกันเริ่มต้นจัดงานสตาร์อัพแฟร์นี้เป็นครั้งแรก โดยภายในงานจะมี STARTUP Zone จาก 80 สตาร์ทอัพ จัดแสดงนวัตกรรมที่พร้อมให้บริการแก่ภาครัฐและเอกชน ใน 7 โซลูชั่น (Solution) ได้แก่ 1) การพัฒนากำลังคนภาครัฐและการสื่อสารนโยบายสาธารณะ 2) การพัฒนาการท่องเที่ยวและส่งเสริมวัฒนธรรมและพื้นที่เรียนรู้ 3) การบริการสาธารณูปโภค  4) การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ  5) รัฐบาลดิจิตอล  6) ความมั่นคงและการป้องกันประเทศ และ 7) การพัฒนาตลาดในประเทศ  พร้อม Business Matching การให้บริการจับคู่ธุรกิจระหว่างภาครัฐกับสตาร์ทอัพ  Procurement Pavilion  ให้ความรู้เรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พร้อมการสนับสนุนสตาร์ทอัพจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.,  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย EGAT, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล DGA, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, รพ.อภัยภูเษศ  และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA  เวทีการสัมมนา ให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนา GovTech และกรณีประสบความสำเร็จและการให้บริการในโซลูชั่นต่างๆ โดยสตาร์ทอัพที่มีผลงานกับภาครัฐ  และเวทีการแข่งขัน GovTech Awards  ชิงความเป็นหนึ่งที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปพร้อมกับรัฐบาล โดยสตาร์ทอัพมืออาชีพ ใน 3 โจทย์หลัก ได้แก่  1. Digital Government  การบริหารและบริการของภาครัฐ เพื่อบริการประชาชนได้อย่างตรงความต้องการและเข้าถึงได้สะดวกขึ้น ในกลุ่ม G2G : ภาครัฐสู่ภาครัฐ G2B : ภาครัฐสู่ภาคธุรกิจ G2E : ภาครัฐสู่ภาคข้าราชการและพนักงานของรัฐ และ G2C : ภาครัฐสู่ประชาชน  2. Ease of Doing Business การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนมีความคล่องตัวและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ 3. Public Services การบริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้านการแพทย์ ด้านอาหาร ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะประกาศผลการแข่งขันในวันสุดท้ายของการจัดงาน

  นอกจากนี้ ดร.สุวิทย์ฯ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาตลาดภาครัฐสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีภาครัฐและตลาดภาครัฐสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น”

 

แหล่งที่มา :  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี