ภาพประกอบ

ก.วิทย์ฯ นำ “นวัตกรรมอุปกรณ์ทางการทหารและยานยนต์” ผลงานวิจัยร่วมผู้ประกอบการไทยโชว์ทำเนียบรัฐบาล

02-10-2018 Views 10,926

2 ตุลาคม 2561 ณ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ - ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รมว.วท.) พร้อมด้วยพลเอก นาวิน ดำริกาญจน์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง นำทีมคณะผู้บริหารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ในกลุ่มบริษัทโชคนำชัย จัดแสดงผลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมที่ร่วมกันดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น เรืออลูมิเนียม รถอลูมิเนียม โครงสร้างน้ำหนักเบา และอุปกรณ์ทางการทหารให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เยี่ยมชมก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบแนวทางการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงกระตุ้นและเสริมแกร่งความเข้มแข็งทางด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตของผู้ประกอบการไทยรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (Defense Industry) ให้มีศักยภาพในการสร้างแม่พิมพ์ขึ้นรูปโครงสร้างน้ำหนักเบาเพื่อการผลิตและจำหน่ายแล้วทั้งในและต่างประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ฯ รมว.วท. เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 สนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนากับกลุ่มบริษัท โชคนำชัย ในการวิจัยและพัฒนาโครงสร้างเรือ และรถโดยสาร โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) หน่วยงานในสังกัด สวทช. ด้วยการใช้กลไกของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) หรือไอแทป รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การยื่นขอรับการพิจารณาบัญชีนวัตกรรม และการลดภาษี 300% ซึ่งการดำเนินโครงการต่างๆ นั้น ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ช่วยให้บริษัท โชคนำชัย และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่นฯ สามารถพัฒนากระบวนการผลิตโดยมีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา ซึ่งความร่วมมือก้าวต่อไปนั้น กระทรวงวิทย์ฯ จะร่วมวิจัยและพัฒนายานพาหนะสมัยใหม่ รวมถึงชิ้นส่วน โครงสร้าง องค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ การออกแบบ และผลิตโครงสร้างน้ำหนักเบา นอกจากนี้ ยังจะร่วมพัฒนาบุคลากรและกำลังคนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียานพาหนะสมัยใหม่ เพื่อสร้างองค์ความรู้ และยกระดับศักยภาพในการผลิตยานยนต์ เพื่อคนไทยให้เกิดขึ้นในประเทศต่อไป

 

โดยชิ้นงานที่นำมาแสดง ประกอบด้วย อุปกรณ์ทางการทหาร (หุ่นยนต์ จรวดฝนเทียม) เรืออลูมิเนียม (โมเดลเรือ 5 รุ่น) รถอลูมิเนียม (โครงสร้างบัสครึ่งคัน) และตัวอย่าง Advance Material (โครงสร้างน้ำหนักเบาที่เป็นวัสดุขั้นสูง) ดังรายละเอียดต่อไปนี้

อุปกรณ์ทางการทหาร
- EOD ROBOT (หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก)
โครงสร้างผลิตด้วยแม่พิมพ์ขึ้นรูป และวัสดุเป็นอลูมิเนียม ทำให้มีน้ำหนักเพียงแค่ 25 กิโลกรัม สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 1.5 เมตรต่อวินาที และชุดแขนกลสามารถรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 6 กิโลกรัม สามารถขึ้นที่สูงและลงต่ำได้ 35 องศา รวมถึงยังสามารถปฏิบัติงานในพื้นที่น้ำท่วมขังได้ถึงร้อยละ 90 ของความสูงโครงสร้างฐานหุ่นยนต์ ซึ่งมีการทำงานแบบไร้สาย (Wireless) ได้ในระยะมากกว่า 150 เมตร (None Line of Sight)
- Weather Modification Rockets (จรวดดัดแปลงสภาพอากาศ)
ผลิตชิ้นส่วนทางกลสำหรับจรวดดัดแปรสภาพอากาศครบชุด มีชุดมอเตอร์จรวด ชุดพ่วงหาง ตัดจุดจรวด ชุดส่วนหัวและส่วนบรรจุ และที่สำคัญคือชุดฉนวนส่วนท้าย (Rear Insulation Nozzle) เพื่อทำต้นแบบชิ้นส่วนจรวดดัดแปรสภาพอากาศ โครงการวิจัยและพัฒนาจรวดดัดแปรสภาพอากาศ

เรืออลูมิเนียม 
เรือส่วนใหญ่ทำจาก Fiber Glass ซึ่งเบากว่าไม้ แต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเริ่มนำ Aluminum มาผลิตเรือ เนื่องจากแข็งแรงและเบากว่า ซึ่งหมายถึงต้นทุนเชื้อเพลิงที่ต่ำลง และมีอายุใช้งานนานกว่า 30 ปี โดยไม่ต้อง re-Coating เพื่อลดปัญหาการอมน้ำเหมือนกับ Fiber Glass จากคุณสมบัติดังกล่าว ทำให้เรือ Aluminum เป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาด แต่ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ด้านการขึ้นรูป ระยะเวลาในการผลิต ฯ บริษัทฯ จึงได้คิดค้นทำการวิจัยและพัฒนา Aluminum boat เพื่อตัดข้อจำกัดดังกล่าว พร้อมร่วมมือกับ สวทช. วิจัยและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ มีการใส่ Foam EVA ใต้ท้อง ให้สามารถลอยตัวกรณีน้ำเข้า มี Safety Platform กั้นเครื่องท้ายเรือ และหลังคาแข็ง เพื่อให้เรือมีมาตรฐานและความปลอดภัยเทียบเท่ามาตรฐานที่นำเข้าจากต่างประเทศ

รถอลูมิเนียม 
บริษัทได้นำสิ่งที่วิจัยและพัฒนากับเรือมาต่อยอดผลิต Aluminum Bus สัญชาติไทย ที่มีโครงสร้างน้ำหนักเบา ขึ้นรูปโดยการปั๊มและฉีดแบบลดรอยต่อ เสริมความแข็งแรงของโครงสร้างตามจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น มุมโครงสร้างหลังคา จุดที่ต้องรับแรงข้างที่นั่งผู้โดยสาร ฯลฯ ผสมผสานกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ความสะดวกสบายให้ผู้โดยสาร และจะช่วยผู้ประกอบการในการลดต้นทุนเชื้อเพลิงและการลงทุน เนื่องจากมีอายุการใช้งานยาวนาน โดยมีแผนวิจัยและพัฒนาทั้ง Bus Diesel, Bus EV (โดยใช้ E-Body, E-Platform) ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการพัฒนารถไฟฟ้า สามารถนำไปใช้พัฒนาและต่อยอดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมนี้ ได้ร่วมกับ สวทช. ในการพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ โดยมีแผนรวมกลุ่มบริษัทไทยที่มีนวัตกรรมในแต่ละด้านมาพัฒนาร่วมกัน (Consortium) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทย และการพัฒนาองค์ความรู้อย่างยั่งยืน

วัสดุขั้นสูง (Advanced Materials) ในอุตสาหกรรมยานยนต์
- Aluminum Spot
ในปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์นิยมใช้การเชื่อมสปอตสำหรับบอดี้ที่ทำจากเหล็ก ทางกลุ่มโชคนำชัยได้นำเทคโนโลยีสปอตอลูมิเนียม (Aluminum Spot Weld) สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์เข้ามาใช้ในไลน์ประกอบเพื่อลดการเสียรูปของชิ้นงานจากความร้อนสะสม และเพิ่มความเร็วในการประกอบชิ้นงาน
- Dissimilar Joining
ศึกษาการเชื่อมต่อระหว่างอลูมิเนียมและเหล็ก โดยใช้วิธีการเชื่อมแบบใหม่ เพื่อจะนำเหล็กชนิด High-Tensile แบบบาง มาขึ้นรูปและใช้ประกอบในโครงสร้างของรถยนต์เพื่อลดน้ำหนัก และเพิ่มความแข็งแรง
- Advance Adhesive
ศึกษาและทดลองการใช้กาวชนิดพิเศษในการยึดติดชิ้นงานอลูมิเนียมและกระจก โดยมีคุณสมบัติความยืดหยุ่นสูง ทนทานต่อการใช้งานในสภาวะต่างๆ ป้องกันรังสี UV ผ่านการรับรองมาตรฐานสากลสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และเรือ โดยตัวกาวมีค่า Tensile 3 Mpa และค่า Elongation 300%
- Honeycomb Aluminum Product
เทคโนโลยีใหม่ในการทำโครงสร้างอลูมิเนียมแบบรังผึ้งเพื่อลดน้ำหนัก แต่ยังคงไว้ซึ่งความแข็งแรง
- Aluminum Welding
เทคนิคการเชื่อมอลูมิเนียม MIG/ TIG ซึ่งผ่านการรับรองโดยสถาบันจัดชั้นเรือ Lloyd's Register Class กำหนด Welding Procedure สำหรับการเชื่อมเรือตามมาตรฐาน IACS Ship Building and Repair Quality Standard
- Aluminum Extrusion
การฉีดอลูมิเนียมเป็น Profile ต่าง ๆ สำหรับโครงสร้างรถยนต์ เรือ และรถไฟ ออกแบบให้ฉีดได้มากกว่า 12 เมตร และสามารถดัดโค้งได้ตาม Shape ที่ต้องการ
- Aluminum Stamping Part
การปั๊มขึ้นรูปอลูมิเนียมด้วยเทคโนโลยีแม่พิมพ์ชั้นสูง โดยการทำ Simulation และออกแบบแม่พิมพ์ เพื่อปรับลดค่า Spring Back ของชิ้นงาน ทำให้สามารถปั๊มขึ้นรูปชิ้นงานตาม Shape ที่ออกแบบไว้ได้
- Aluminum Improve Formability
การผลิต Material ชนิดพิเศษเพื่อใช้ในการประกอบรถมินิบัส โดยเป็นเกรดเฉพาะของ CNC โดยการกำหนด composition Material เพื่อเพิ่มค่า Elongation ให้สามารถขึ้นรูปชิ้นส่วนอลูมิเนียมต่างๆ ได้ด้วยแม่พิมพ์

 

แหล่งที่มา : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)