7 มิถุนายนนี้ สดร. ชวนส่อง “วงแหวนดาวเสาร์” ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ 4 จุดสังเกตการณ์หลักและเครือข่าย 360 แห่งทั่วประเทศ
26-06-2018 Views 14,849
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนส่อง “วงแหวนดาวเสาร์” คืนดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี 27 มิถุนายน 2561 ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 จุด เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา และเครือข่ายดาราศาสตร์ 360 แห่งทั่วประเทศ ฟรี !!...ไม่เสียค่าใช้จ่าย หวังส่งเสริมเยาวชนและประชาชนไทยเรียนรู้ดาราศาสตร์จากประสบการณ์จริง สร้างแรงบันดาลใจใฝ่รู้ในดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า วันที่ 27 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุด ระยะห่างประมาณ 1,353 ล้านกิโลเมตร จึงสามารถสังเกตการณ์ได้ยาวนานตลอดคืนตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าจนถึงรุ่งเช้า ดูด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน ปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดหน้ากล้องตั้งแต่ 4 นิ้ว และมีกำลังขยาย 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นวงแหวนหลักของดาวเสาร์และดวงจันทร์บริวารบางดวงได้อย่างชัดเจน
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในวันพุธที่ 27 มิถุนายน 2561 ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. เชิญชวนประชาชนส่องดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากหลายชนิด ฟรี !! ไม่มีค่าใช้จ่าย ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่
1) เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (โทร. 081-8854353)
2) นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา (โทร. 086-4291489)
3) ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา (โทร. 084-0882264)
4) สงขลา : ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ จ.สงขลา (โทร. 095-1450411
นอกจากนี้ ยังร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายอีก 360 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์จาก สดร. ในโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ฯ ตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อให้นักเรียนและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงร่วมสังเกตปรากฏการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกในครั้งนี้อีกด้วย ตรวจสอบรายชื่อโรงเรียนได้ที่ www.facebook.com/NARITpage และ www.NARIT.or.th
ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนขนาดใหญ่และสวยงามมาก ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งวงแหวน” การชมดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์จะช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนไทยได้สัมผัสวงแหวนดาวเสาร์ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนหันมาสนใจดาราศาสตร์อยากเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมและปรากฏการณ์ดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย ดร.ศรัณย์กล่าวปิดท้าย
แหล่งที่มา : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)