ภาพประกอบ

ดาวฤกษ์ซอมบี้!? นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวฤกษ์ที่สามารถเกิดปรากฏการณ์ซูเปอร์โนวาได้มากกว่าหนึ่งครั้ง

27-03-2018 Views 15,061

ซูเปอร์โนวาเป็นจุดจบของดาวฤกษ์ที่มีมวลมากซึ่งโดยปกติจะเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียว จนกระทั่งมีการค้นพบดาวฤกษ์ดวงนี้ เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวฤกษ์ที่สามารถเกิดซูเปอร์โนวาได้มากกว่าหนึ่งครั้ง อาจเรียกได้ว่าเป็นดาวฤกษ์ซอมบี้ที่สามารถฟื้นคืนชีพจากความตายได้ พฤติกรรมที่แปลกประหลาดนี้ทำให้นักดาราศาสตร์เกิดความสงสัยเป็นอย่างมากโดยเฉพาะทฤษฏีที่เกี่ยวข้องกับการสิ้นอายุขัยของดาวฤกษ์ที่มีมวลมาก

ภาพที่ 1 ภาพจำลองของซูเปอร์โนวา แสดงให้เห็นชั้นของฝุ่นและแก๊สที่ระเบิดออกมาจากแก่นของดาวแคระขาว

ภาพที่ 2 กราฟความสว่างของดาวฤกษ์ดังกล่าวในระยะเวลา 2 ปี

การระเบิดของดาวฤกษ์ดวงนี้มีชื่อว่าซูเปอร์โนวา iPTF14hls ถูกค้นพบครั้งแรกในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2014 โดย Palomar Transient Factory (PTF) ทีมนักดาราศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางสเปกตรัมพบว่าการระเบิดดังกล่าวเป็นซูเปอร์โนวาชนิด II-P ซึ่งโดยทั่วไปแล้วความสว่างลดลงเรื่อยๆหลังจากผ่านการระเบิดไปประมาณ 100 วัน ซึ่งซูเปอร์โนวา iPTF14hls มีความสว่างที่ลดลงหลังจากการระเบิดในปี ค.ศ. 2014 แต่ภายในไม่กี่เดือนต่อมามันก็กลับมาสว่างขึ้นอีกครั้ง และยังมีการเปลี่ยนแปลงความสว่างเพิ่มขึ้นและลดลงที่แตกต่างกันถึง5 ครั้งดังภาพที่ 2

        เมื่อนักดาราศาสตร์พบว่า iPTF14hls เป็นซูเปอร์โนวาที่มีลักษณะพิเศษ พวกจึงเขาตัดสินใจกลับไปค้นหาข้อมูลที่อาจเคยมีการบันทึกไว้และได้พบว่าในปี ค.ศ.1954 มีการระเบิดในตำแหน่งเดียวกันกับ iPTF14hls นั่นหมายความว่ามันเคยเกิดการระเบิดขึ้นแล้วเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ดังภาพที่ 3

ภาพที่ 3ภาพถ่ายโดยPalomar Observatory Sky Survey เผยให้เห็นการระเบิดของซูเปอร์โนวา เมื่อปี ค.ศ. 1954 ในตำแหน่งเดียวกันกับiPTF14hls (ซ้าย) ในขณะที่ภาพถ่ายในปี ค.ศ.1993 ไม่พบการระเบิดใดๆ(ขวา) โดย POSS/DSS/LCO/S. Wilkinson

จากการวิเคราะห์พบว่าพลังงานที่ปล่อยออกมาจากซูเปอร์โนวานี้สูงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ในทางทฤษฎี นอกจากนี้ไฮโดรเจนทั้งหมดควรจะสูญหายไปในระหว่างการระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1954 แต่กลับพบว่ายังคงมีไฮโดรเจนปริมาณมากเกิดขึ้นหลังจากการระเบิดเมื่อปี ค.ศ. 2014 

        แม้ว่านักดาราศาสตร์จะยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดซูเปอร์โนวานี้ได้ แต่การศึกษาเกี่ยวกับ Pulsation pair-instability supernova มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นผลมาจากกระบวนการที่แกนกลางของดาวฤกษ์มวลมากมีอุณหภูมิสูงจนกระทั่งสามารถแปลงพลังงานให้อยู่ในรูปของสสารและปฏิสสารได้ทำให้เกิดความไม่เสถียรอย่างรุนแรงจนนำไปสู่การระเบิดซ้ำได้ จากการคำนวณพบว่าก่อนเกิดการระเบิดครั้งแรกดาวดวงนี้เคยมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ถึง50 เท่าหรือมากกว่า และยังถือเป็นการระเบิดที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมาอีกด้วย

        ในอนาคตนักดาราศาสตร์จะใช้เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ของ LCO ที่มีอยู่ทั่วโลกซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับการสังเกตการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะศึกษาดาวฤกษ์มวลมากว่ามีกระบวนการระเบิดอย่างไรต่อไป