ภาพประกอบ

ยานอวกาศ TESS ส่งภาพแรกกลับมายังโลกแล้ว

23-05-2018 Views 15,081

ยานอวกาศ TESS ขององค์การนาซาที่ถูกสร้างมาเพื่อการสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ได้บินเข้าไปเฉียดใกล้ดวงจันทร์ที่ระยะห่าง 8,000 กิโลเมตรเพื่อทำ gravity assist  เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา และในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 นาซาได้เผยแพร่ภาพถ่ายภาพแรกจากกล้องตัวหนึ่งบนยานอวกาศ TESS ที่แสดงให้เห็นดาวฤกษ์มากกว่า 200,000 ดวง โดยดาวดวงที่สว่างตรงด้านล่างซ้ายคือ Beta Centauri และมุมขวาบนจะมองเห็นบางส่วนของเนบิวลาถุงถ่าน

ภาพทดสอบภาพแรกจากกล้องบนยานอวกาศ TESS

จริงๆแล้วยานอวกาศ TESS สามารถศึกษาครอบคลุมพื้นที่บนท้องฟ้ามากกว่าภาพนี้ถึง 400 เท่าเมื่อเริ่มภารกิจในเดือนมิถุนายน รวมทั้งภาพถ่ายจริงจังภาพแรกจะถูกส่งกลับมาในเดือนมิถุนายนนี้

        ยานอวกาศ TESS จะทำการติดเครื่องยนต์ของมันอีกครั้งในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 เพื่อเข้าสู่วงโคจร P/2 Orbit ของมัน ซึ่งถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อทำให้มันไม่ใกล้ไม่ไกลโลกจนเกินไป การไม่อยู่ใกล้ทำให้มันสามารถมองเห็นได้รอบทิศทางโดยไม่โดนโลกบัง  ส่วนการอยู่ไม่ไกลจะทำให้ไม่ต้องใช้พลังงานมากในการสื่อสารกับโลกอย่างกล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์ และแน่นอนว่านี่เป็นครั้งแรกที่วงโคจร P/2 Orbit  นี้ถูกใช้งานจริง

        ในปัจจุบันกล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์ ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะไปแล้วมากกว่า 3,000 ดวง แต่ก็ใกล้จะถึงวัยหมดอายุการใช้งานแล้ว โดยนักดาราศาสตร์ประเมินไว้ว่ายานอวกาศ  TESS จะค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเพิ่มอย่างน้อย 1,000 ดวงและข้อมูลที่ได้มานี้ก็จะถูกส่งไม้ต่อให้กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ที่จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ. 2020 เพื่อทำการสำรวจแบบเจาะลึกดาวเคราะห์บางดวงต่อไป

 

แหล่งที่มา : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)