ยาน Parker Solar Probe เฉียดใกล้ดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรก
13-11-2018 Views 15,245
5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา ยาน Parker Solar Probe ได้เข้าไปเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะห่าง 24 ล้านกิโลเมตรซึ้งใกล้กว่าที่ยานอวกาศทุกลำ
ล่าสุดมันก็ได้ติดต่อกลับโลก พร้อมกับคอยส่งข้อมูลต่างๆ กลับมาอย่างต่อเนื่อง
ภาพจำลองของยาน Parker Solar Probe
ความสำเร็จในการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งแรกนี้มีความสำคัญอย่างมาก นอกจากที่ยานอวกาศมูลค่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯจะปลอดภัยดีแล้ว ยังเป็นการยืนยันว่าระบบควบคุมยานแบบอัตโนมัติของยานนั้นใช้งานได้ผล ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าในอนาคตอันใกล้เราจะได้ข้อมูลสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับดาวฤกษ์เพียงหนึ่งเดียวในระบบสุริยะนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
ในขณะที่ยาน Parker Solar Probe เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ มีนยังได้สร้างสถิติใหม่ในฐานะยานอวกาศที่เร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา ด้วยความเร็วสูงถึง 342,112 กิโลเมตร/ชั่วโมงสัมพัทธ์กับดวงอาทิตย์ แซงหน้าสถิติของยาน Helios 2 ที่เคยทำไว้เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วลงไปในทันที
นี่เป็นเพียงแค่การโฉบผ่านครั้งแรกของยานเท่านั้น และยาน Parker Solar Probe ยังมีกำหนดการบินผ่านดวงอาทิตย์อีกอย่างน้อย 23 ครั้ง ตลอดอายุการใช้งานของมัน โดยการบินผ่านครั้งสุดท้ายจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2025 เมื่อยานเข้าไปเฉียดที่ระยะเพียง 6 ล้านกิโลเมตรจากผิวดวงอาทิตย์และอาจทำความเร็วได้สูงถึง 690,000 กิโลเมตร/ชั่วโมงเลยทีเดียว
ยาน Parker Solar Probe มีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ประกอบไปด้วยกล้องถ่ายภาพ เครื่องตรวจวัดสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ เครื่องตรวจวัดลมสุริยะและอนุภาคในลมสุริยะ โดยมันมีเป้าหมายที่จะตอบสองคำถามที่นักดาราศาสตร์ยังคงสงสัย ว่าทำไมบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ถึงร้อนกว่าพื้นผิวของดวงอาทิตย์ และทำไมลมสุริยะถึงถูกเร่งความเร็วออกมาได้
ยาน Parker Solar Probe ถูกตั้งชื่อตามนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ Eugene Parker ผู้ให้คำนิยามของ “ลมสุริยะ” เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1958 ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่ยานอวกาศขององค์การนาซาถูกตั้งชื่อตามบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยยานได้ถูกปล่อยขึ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมานี้
แหล่งที่มา : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)
แท็ก :
จากหน่วยงาน :