กระจกกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติขนาด 2.4 เมตรเคลือบใหม่ ด้วยนวัตกรรมเครื่องเคลือบฝีมือคนไทย…พร้อมส่องดาวหนาวนี้
02-11-2018 Views 17,594
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถอดกระจกกล้อง โทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร มาเคลือบใหม่ด้วยเครื่องเคลือบกระจกฝีมือคนไทย นับเป็นการเคลือบครั้งแรก หลังจากใช้งานมา 5 ปี เผยดำเนินการเองตลอดกระบวนการตั้งแต่ถอด ล้าง เคลือบ ประกอบและติดตั้ง ณ หอดูดาวแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ หวังใช้ดาราศาสตร์พัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพบุคลากร ทั้งยังช่วยสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ พร้อมให้บริการสังเกตการณ์ท้องฟ้าตั้งแต่พฤศจิกายนเป็นต้นไป
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า กล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือ หอดูดาวแห่งชาติเป็นกล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสง ติดตั้งกระจกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถรวมแสงวัตถุท้องฟ้าที่อยู่ไกลและมีความสว่างน้อยได้ดี เมื่อใช้งานไประยะเวลาหนึ่งฟิล์มบางอะลูมิเนียมที่เคลือบผิวกระจกจะเสื่อมสภาพลง ทำให้ปริมาณแสงที่ได้ลดลงไปด้วย เมื่อมีค่าการสะท้อนแสงต่ำกว่า 80% จำเป็นต้องนำมาทำความสะอาดและเคลือบใหม่อีกครั้ง
กว่า 5 ปีที่กล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นประตูสู่โลกดาราศาสตร์ให้กับประเทศไทยและนานาประเทศ ถึงเวลาที่ต้องเคลือบกระจกของกล้องโทรทรรศน์ให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพดังเดิม เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทีมเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการหอดูดาวแห่งชาติและวิศวกรรม ได้ดำเนินการถอดกระจกกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติจากอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และขนส่งมายังอาคารเคลือบกระจก อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อทำความสะอาด ล้างและเคลือบใหม่จนได้กระจกที่ใส มีคุณสมบัติการสะท้อนแสงที่ดีดังเดิม จากนั้นจึงขนย้ายกระจกดังกล่าวกลับไปติดตั้ง ณ หอดูดาวแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
นายอภิชาต เหล็กงาม ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการหอดูดาวและวิศวกรรม กล่าวว่า กระบวนการเริ่มด้วยการล้างฟิล์มบางอะลูมิเนียมเก่าออกด้วยสารเคมี ทำความสะอาดผิวหน้าด้วยน้ำยาเฉพาะ แล้วจึงเคลือบกระจก ด้วยเทคนิคสปัตเตอริง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้ฟิล์มมีความเรียบสม่ำเสมอทั่วทั้งผิวกระจกและทำให้ได้ค่าการสะท้อนแสงที่ดีที่สุด จากนั้นจึงทำการทดสอบอยู่หลายครั้ง จนวัดค่าการสะท้อนแสงที่มุมต่างๆ ของบานกระจกได้เฉลี่ยประมาณ 90% (ตามทฤษฎีการสะท้อนแสงของอะลูมินัม) จึงส่งกลับไปติดตั้งที่หอดูดาวแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ดังเดิม
เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ เป็นกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบริชชี-เครเทียน (Ritchey-Chretien system) ประกอบด้วยระบบกระจก 4 ชิ้น ได้แก่ กระจกปฐมภูมิ (กระจกหลัก ขนาด 2.4 เมตร) กระจกทุติยภูมิ กระจกตติยภูมิและกระจกจตุรภูมิ ดังนั้น เมื่อนำกระจกขนาด 2.4 เมตรที่เคลือบใหม่กลับไปติดตั้ง เจ้าหน้าที่จึงต้องจัดวางตำแหน่งของกระจกทั้ง 4 บานให้สัมพันธ์กัน เพื่อให้ลำแสงอยู่ในแนวเดียวกัน จากนั้นจึงทดสอบการชี้ตำแหน่ง ระบบติดตามดาว และตรวจสอบคุณภาพภาพถ่ายจากอุปกรณ์ ให้ได้ตามมาตรฐานที่ใช้ทำงานวิจัย ซึ่งถือเป็นงานหลักของกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เช่นนี้
นายอภิชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีอุปกรณ์สำหรับเก็บข้อมูลการวิจัยที่ติดตั้งและใช้งานร่วมกับกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ จำนวน 4 ชิ้น ได้แก่ กล้องถ่ายภาพอัลตราสเปก เป็นกล้องถ่ายภาพความเร็วสูงหลายร้อยภาพต่อวินาที สำหรับถ่ายภาพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบ และดาวแปรแสง เป็นต้น กล้องถ่ายภาพวัตถุทางดาราศาสตร์ระดับงานวิจัย ความละเอียด 4 K (ARC4K : Astronomical Research Camera) ใช้ถ่ายภาพความละเอียดสูง เพื่อให้ได้รายละเอียดของวัตถุที่ชัดเจน สเปกโตรกราฟความละเอียดในช่วงกลาง (MRES : Medium Resolution Echelle Spectrograph) สำหรับถ่ายภาพสเปกโตรสโกปีความละเอียดปานกลาง เพื่อวัดค่าสเปกตรัมของวัตถุท้องฟ้า หาองค์ประกอบของวัตถุท้องฟ้าที่สนใจ และกล้องถ่ายภาพดาวเคราะห์ เพื่อถ่ายภาพดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
สำหรับเครื่องเคลือบกระจกนี้เป็นผลงานฝีมือคนไทย เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สามารถรองรับกระจกกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 2.4 เมตร กระบวนการสร้างเครื่องเคลือบกระจกดังกล่าวต้องอาศัยองค์ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงในหลายสาขาวิชา เพื่อให้ได้เครื่องเคลือบที่มีประสิทธิภาพสูงอันจะเป็นประโยชน์ต่องานด้านดาราศาสตร์ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้า เครื่องเคลือบดังกล่าวได้รับการพัฒนาจนมีคุณภาพไม่ด้อยกว่าเครื่องเคลือบกระจกจากต่างประเทศ ทั้งยังนำไปสู่ความร่วมมือพัฒนาเครื่องเคลือบกระจกสำหรับโครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ โครงการวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่สนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ค้นหาคำตอบของจักรวาลจากการค้นพบทางฟิสิกส์อนุภาคที่ยิ่งใหญ่ เปิดโอกาสให้บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ของไทยได้พัฒนาศักยภาพของตน นอกจากนี้ สดร. ยังมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ให้คิดค้นพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือทางดาราศาสตร์อื่น ๆ อีกมากมายสำหรับพัฒนางานวิจัยทางดาราศาสตร์ ซึ่งในอนาคตอาจนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ใช้ต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในแขนงอื่นๆ ด้วย
ปัจจุบัน ขั้นตอนการติดตั้งกระจกกล้องโทรทรรศน์และอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านกระบวนการตรวจเช็คและทดสอบเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กล้องโทรทรรศน์แห่งชาติจึงพร้อมให้บริการสังเกตการณ์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าในประเทศไทย
แหล่งที่มา : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
แท็ก :
จากหน่วยงาน :